มวลการสรรเสริญเป็นอภิสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ผู้ทรงประทานบรรดาศาสนทูตเพื่อทำหน้าที่ปลดปล่อยมวลมนุษย์ให้หลุดพ้นจาก วังวนวัฏจักรแห่งความหวาดกลัว พระองค์ทรงทำให้มนุษย์ได้รับอิสระจากการถูกบังคับและการยกย่องบูชามนุษย์ ด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากความหายนะและความชั่วร้ายในชีวิตมนุษย์โดยส่วนใหญ่แล้ว ล้วนมีสาเหตุจากการที่มนุษย์พยายามใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ตราบใดที่ไม่สามารถยับยั้งสกัดกั้นการบีบบังคับและการยกย่องบูชามนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนการนับถือพระเจ้าอันจอมปลอม และตราบใดที่ไม่สามารถปลดปล่อยมนุษย์ให้มีความอิสรเสรีในการเลือกวิถีชีวิต และความต้องการอันแท้จริงของตนเองแล้ว มนุษย์ก็ต้องประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง สังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวาย ด้วยเหตุดังกล่าว ภารกิจสำคัญของบรรดา ศาสนทูตก็คือการปลดปล่อยมวลมนุษย์ให้หลุดพ้นจากพันธนาการการเคารพบูชามนุษย์ ด้วยกันสู่การเคารพบูชาอัลลอฮฺผู้ทรงเอกา ทั้งนี้เนื่องจากการศรัทธาและการยอมจำนนในอำนาจแห่งอัลลอฮฺเพียงพระองค์ เดียว ทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน ทุกคนมีสิทธิและหน้าที่อย่างเสมอภาคโดยปราศจากอภิสิทธิ์และกฎกติกาต่าง ๆ ที่กำหนดโดยมนุษย์ด้วยกันเอง

สัญชาตญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือ มนุษย์มีความต้องการศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ผู้ที่ศึกษาอารยธรรมของมนุษย์ในทุกยุคทุกสมัยจะพบว่า มนุษย์ในบางสังคมหรือบางช่วงเวลาอาจจะไม่มีโรงงาน สถาบันการศึกษา บริษัท โรงพยาบาลหรือแม้แต่บ้านที่ใช้เป็นที่พักพิง แต่ไม่เคยปรากฏในสังคมมนุษย์ที่ใช้ชีวิตโดยปราศจากหอสวด ศาลเจ้า สถานศักดิ์สิทธิ์หรือสัญลักษณ์ของความเชื่อที่มีการเรียกขานด้วยชื่อต่าง ๆ ตามความศรัทธาของแต่ละสังคม จึงสรุปได้ว่า มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตได้หากปราศจากศาสนาและไม่ศรัทธาในพระเจ้า ผู้ที่ปฏิเสธแนวคิดความเชื่อในพระเจ้า แท้จริงแล้วบุคคลนั้นกำลังสร้างศาสนาใหม่และสถาปนาตนเองเป็นพระเจ้าแทน
พรอันประเสริฐและสันติสุขจนมีแด่ท่านศาสนทูตคนสุดท้ายมูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) บุคคลผู้ใดที่ศรัทธาต่อท่าน ย่อมแสดงว่าผู้นั้นได้ศรัทธาเหล่าศาสนทูตยุคก่อนทั้งมวล ดังอัลกุรอาน กล่าวไว้ว่า
مَّا كَانَ مُحَمَّدٌ أَبَا أَحَدٍ مِّن رِّجَالِكُمْ وَلَكِن رَّسُولَ اللَّهِ وَخَاتَمَ النَّبِيِّينَ (الأحزاب/40)
ความว่า : มูฮัมมัดมิได้เป็นบิดาผู้ใดในหมู่ของพวกเจ้า แต่เป็นรอซูลของอัลลอฮฺ และคนสุดท้ายแห่งบรรดานบี (33 / 40)
อัลลอฮฺได้ทรงประทานศาสนทูตมูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) เพื่อธำรงไว้ซึ่งความกรุณาปรานีแก่สากลจักรวาล ดังที่อัลลอฮฺทรงกล่าวไว้ว่า
وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِّلْعَالَمِينَ (الأنبياء/107)
ความว่า : และเรามิได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่สากลจักรวาล (21 / 107)
และเพื่อยืนยันในสัจธรรมดังกล่าวศาสนทูตมูฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้กล่าวแก่ตนเองความว่า “ ฉันคือความเมตตาที่เป็นของขวัญจากพระเจ้าที่มอบให้กับสรรพสิ่งทั้งหลาย ” (รายงานโดย )
ส่วนหนึ่งของความกรุณาปรานีของอัลลอฮฺที่มีต่อมนุษย์คือ การให้โอกาสแก่มนุษย์มีสิทธิเลือกและกำหนดวิถีชีวิตตามความประสงค์ของตนเอง
มนุษย์ โดยสภาวะดั้งเดิม คือ สิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐสุดและมีเกียรติยิ่ง แม้นว่าจะแตกต่างด้านสีผิว ชาติพันธุ์ ภาษาและฐานะทางสังคม อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า
وَلَقَدْ كَرَّمْنَا بَنِي آدَمَ وَحَمَلْنَاهُمْ فِي الْبَرِّ وَالْبَحْرِ وَرَزَقْنَاهُم مِّنَ الطَّيِّبَاتِ وَفَضَّلْنَاهُمْ عَلَى كَثِيرٍ مِّمَّنْ خَلَقْنَا تَفْضِيلاً (الإسراء/70)
ความว่า : และ โดยแน่นอน เราได้ให้เกียรติแก่ลูกหลานของอาดัม และเราได้บรรทุกพวกเขาทั้งทางบกและทางทะเล และได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดีทั้งหลายแก่พวกเขา และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติเหนือกว่าผู้ที่เราได้ให้บังเกิดมา เป็นส่วนใหญ่ (17/70)
มนุษย์เป็นมัคลูก (สิ่งถูกสร้าง) ที่มีสติปัญญา มีเป้าหมายแห่งชีวิต เป็นมัคลูกที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ถูกกำหนดไว้ มนุษย์มีสถานะและบทบาทอันทรงเกียรติยิ่ง เขาจะต้องถูกสอบสวนในการปฏิบัติหน้าที่เหล่านั้นในวันอาคีเราะฮฺ(โลกหน้า) มนุษย์มีสิทธิ์เลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์มีความพร้อมที่จะกระทำสิ่งดีและไม่ดี มนุษย์จึงไม่ใช่มะลาอิกะฮฺ (เหล่าเทวทูต) ที่อัลลอฮฺทรงสร้างขึ้นเพื่อให้กระทำแต่เพียงความดี เนื่องจากมะลาอิกะฮฺเป็นมัคลูกที่ไม่มีอารมณ์และปราศจากความต้องการ แต่ในขณะเดียวกัน มนุษย์ก็มิใช่ชัยฏอน (เหล่ามารร้าย) ที่หมกมุ่นปฏิบัติแต่เพียงความชั่วร้ายและสิ่งอบายมุขทั้งมวล
อัล ลอฮฺได้ทรงทำให้มนุษย์รู้จักกำหนดวิถีชีวิตด้วยอาศัยการเรียนรู้และการพัฒนา อัลลอฮฺทรงแนะนำและส่งเสริมให้มนุษย์กระทำคุณงามความดี พระองค์ทรงตักเตือน และห้ามปรามมิให้มนุษย์จมปลักในความชั่วร้าย อัลลอฮฺทรงกล่าวไว้ว่า
وَهَدَيْنَاهُ النَّجْدَيْنِ (البلد/10)
ความว่า : และเราได้ชี้แนะทางแห่งความดี และความชั่วแก่เขาแล้ว (90 /10)
อัลลอฮฺจึงให้มนุษย์มีความรับผิดชอบต่อผลของการเลือกของเขา ทั้งนี้เพราะความรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพ หากปราศจากเสรีภาพ ความรับผิดชอบก็จะไร้ความหมาย
ด้วยเหตุที่มนุษย์มี อิสรภาพ รู้จักแสวงหาและสะสมความรู้และประสบการณ์ มีศักยภาพในการตัดสินว่าสิ่งใดถูกและสิ่งใดผิด ตลอดจนมีโอกาสในการแก้ตัว ปรับปรุงและขอลุแก่โทษในความผิดพลาดทั้งปวง มนุษย์จึงมีฐานะที่สูงส่งกว่าสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย และสิ่งเหล่านี้คือ เหตุผลสำคัญที่ทำให้บรรดามะลาอิกะฮฺ (เหล่าเทวทูต) ยอมสุญูด (ก้มคารวะ) เพื่อแสดงความเคารพนับถือต่ออาดัม ดังปรากฏในประวัติศาสตร์ที่บันทึกโดยอัลกุรอาน[1]
มุสลิมทุกคนจึงมีหน้าที่สืบทอดภารกิจของเหล่าศาสนทูตด้วยการให้เกียรติในศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์มีอิสรเสรี และคืนศักดิ์ศรีอันเหมาะสมกับสถานะและบทบาทอันแท้จริงแก่เขา มุสลิมทุกคนต้องใช้ความพยายามอันแรงกล้าในการชี้แจงความถูกต้องและสัจธรรม ตักเตือนมิให้กระทำสิ่งชั่วร้าย แต่ทั้งนี้มุสลิมพึงสำนึกว่า มนุษย์มีสิทธิ์เต็มที่ในการเลือกทางเดินชีวิตของตนเอง การบังคับมนุษย์ด้วยกันถือเป็นการลดศักดิ์ศรีและไม่ให้เกียรติกัน ด้วยเหตุดังกล่าวอิสลามจึงกำหนดให้มุสลิมประกาศญีฮาด (การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺ) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นการแพร่ขยายของฟิตนะฮฺ(การกดขี่บังคับมิให้ ปฏิบัติตามศาสนา) ดังอัลลอฮฺทรงกล่าวไว้ว่า
وَقَاتِلُوهُمْ حَتَّى لاَ تَكُونَ فِتْنَةٌ (البقرة : 193)
ความว่า : และจงสู้รบกับพวกเขา จนกว่าฟิตนะฮฺจะไม่ปรากฏขึ้น (2 / 193)
ฟิตนะฮฺตามความหมายอันแท้จริงคือ การบังคับมิให้มนุษย์มีสิทธิปฏิบัติหรือเชื่อศรัทธาในสิ่งที่เป็นความต้องการของเขา และการปิดโอกาสมิให้เขามีสิทธิเลือกกระทำตามที่เขาต้องการ ด้วยเหตุดังกล่าว อิสลามถือว่า การกระทำฟิตนะฮฺต่อมนุษย์ มีผลกระทบที่ร้ายแรงยิ่งกว่าการฆาตรกรรม ทั้งนี้เพราะฆาตรกรรมเป็นการปลิดชีวิตที่เป็นกายภาพ แต่การกระทำฟิตนะฮฺถือเป็นอาชญากรรมด้านความรู้สึกและจิตใจ อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า
وَالْفِتْنَةُ أَكْبَرُ مِنَ الْقَتْلِ (البقرة/217)
ความว่า : และการฟิตนะฮฺนั้นใหญ่โตยิ่งกว่าการฆ่า (2/217)
บรรดานักวิชาการมุสลิมต่างเห็นพ้องว่า สงครามระหว่างมุสลิมกับชนต่าง ศาสนิกนั้นเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางความอยุติธรรมและตอบโต้การ รุกราน มิใช่เพราะชนต่างศาสนิกไม่นับถืออิสลามหรือไม่ศรัทธาในพระเจ้า นอกจากนั้นสงครามในอิสลามมีเป้าหมายเพื่อปลดปล่อยมวลมนุษย์ให้หลุดพ้นจากการ กดขี่ข่มเหง เรียกร้องศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตลอดจนสร้างบรรยากาศการเผยแผ่อิสลามให้ดำเนินไปในภาวะที่ไร้ความกดดัน
ด้วยเหตุดังกล่าว มุสลิมต้องมีภารกิจในการรังสรรค์บุคลิกภาพมุสลิมให้มีความอิสรเสรีในการ เลือกศรัทธาตามความเชื่อของแต่ละคน เปิดโอกาสให้มีการเผยแผ่อิสลามแก่มวลมนุษย์ ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งความอิสรเสรีในการกำหนดทาง เลือกของชีวิต เผยแผ่ความเมตตาแก่สากลจักรวาลด้วยการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ตอบโต้ความอยุติธรรมและการสร้างความหายนะตลอดจนการล่วงละเมิดทั้งปวง พร้อมทั้งยอมรับความแตกต่างของสังคมมนุษย์ ดังที่อัลลอฮฺได้กล่าวว่า
وَلَوْ شَاء رَبُّكَ لَجَعَلَ النَّاسَ أُمَّةً وَاحِدَةً وَلاَ يَزَالُونَ مُخْتَلِفِينَ (هود : 118)
ความว่า : และ หากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์จะทรงให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน (โดยการทำให้มนุษย์ทั้งหมดศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และอยู่ในแนวทางอิสลาม) แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน (11/ 118)
มุสลิมทุกคนต้องลุกขึ้นปฏิบัติภารกิจในการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่างของมวลมนุษย์ หลีกเลี่ยงการทุ่มเทความพยายามพละกำลังและศักยภาพ เพียงเพื่อสร้างความแตกแยกและจุดชนวนสงคราม สู่การใช้ชีวิตร่วมกันบนรากฐานแห่งการสร้างความรู้จักความเข้าใจ ความช่วยเหลือ เอื้ออาทร สานเสวนา ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวไว้ว่า
يَا أَيُّهَا النَّاسُ إِنَّا خَلَقْنَاكُم مِّن ذَكَرٍ وَأُنثَى وَجَعَلْنَاكُمْ شُعُوباً وَقَبَائِلَ لِتَعَارَفُوا (الحجرات/13)
ความว่า : โอ้มนุษยชาติทั้งหลาย แท้จริงเราสร้างพวกเจ้าจากเพศชายและเพศหญิง และเราได้ให้พวกเจ้าแยกเป็นเผ่าและตระกูลเพื่อจะได้สร้างความรู้จักกัน (49/13)
ทั้งนี้เนื่องจากความอิสรเสรี การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีตลอดจนการสานเสวนานับเป็นการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อ การแผ่ขยายของสาสน์อิสลาม และเปิดโอกาสให้มีการนำใช้สติปัญญาอันบริสุทธิ์ ความแตกต่างและความหลากหลายแทนที่จะเป็นชนวนแห่งความขัดแย้ง กลับกลายเป็นบ่อเกิดแห่งความโปรดปราน เป็นเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเพิ่มพูนศักยภาพของมนุษยชาติใน ดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีประโยชน์และคุ้มค่า
ถึงแม้มนุษย์จะรักกันและชอบพอหรือเป็นศัตรูและเกลียดชังระหว่างกัน แต่ในทัศนะอิสลามแล้ว ถือว่ามนุษย์ทั้งมวลคือพี่น้องกัน มนุษย์จึงไม่ใช่หมาป่าที่คอยคำรามขบกัดระหว่างกันตามที่ปรากฏในคำสอนของ ลัทธิชาตินิยมที่เป็นแหล่งอ้างอิงของสำนักคิดสุดโต่งและทฤษฎีการเมือง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่พยายามวางก้ามใช้อำนาจและอิทธิพล เพื่อกดขี่ข่มเหงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
อิสลามถือว่า มนุษย์มีรากเหง้าที่มาจากบรรพบุรุษคนเดียวกัน ความหลากหลายถือเป็นกฎดั้งเดิมของอัลลอฮฺพระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่ง ความแตกต่างด้านภูมิศาสตร์ ประชากรศาสตร์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อและศาสนา ถือเป็นแนวทางสู่การรังสรรค์ ความช่วยเหลือ การทำความรู้จัก สานเสวนาและสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทั้งนี้ความพยายามที่จะทำให้มนุษย์มีความคล้ายคลึงกันในทุกประการเสมือน เอกสารถ่ายสำเนาจากต้นฉบับอันเดียวกันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทั้งทางด้านสติปัญญาและข้อเท็จจริง เพราะจะทำให้การมีชีวิตไร้ความหมาย ความต้องการ ความมุ่งมั่นและความทะเยอทะยานจะหยุดชะงัก และการสร้างความเจริญตลอดจนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ก็จะกลายเป็นอำพาต อัลลอฮฺทรงกล่าวว่า
وَلَوْ شَاء رَبُّكَ لَجَعَلَ النَّاسَ أُمَّةً وَاحِدَةً وَلاَ يَزَالُونَ مُخْتَلِفِينَ (هود : 118)
ความว่า : และหากพระเจ้าของเจ้าทรงประสงค์ แน่นอนพระองค์ทรงทำให้ปวงมนุษย์เป็นประชาชาติเดียวกัน แต่พวกเขาก็ยังคงแตกแยกกัน (11/118)
---------------
จากงานเขียนของท่านเชค อุมัร อุบัยด์ หะสะนะฮฺ
กรรมการสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา
แปลโดย อ. มัสลัน มาหะมะ